ธรรมะปฏิสันถาร
เมื่อวันที่ ๑๘ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๒๒ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จเยี่ยมหลวงปู่เป็นการส่วนพระองค์ เมื่อทั้งสองพระองค์ทรงถามถึงสุขภาพอนามัยและการอยู่สำราญแห่งอริยาบถของหลวงปู่ ตลอดถึงทรงสนทนาธรรมกับหลวงปู่แล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชปุจฉาว่า "หลวงปู่ การละกิเลสนั้นควรละกิเลสอะไรก่อน" ฯ
หลวงปู่ถวายวิสัชนา
"กิเลสทั้งหมดเกิดรวมที่จิต ให้เพ่งมองดูที่จิต อันไหนเกิดก่อนให้ละอันนั้นก่อน"
[Webmaster-เป็นการปฏิบัติจิตตานุปัสสนาและเวทนานุปัสสนาในสติปัฏฐาน ๔ กล่าวคือ จิตหรือสติเห็นอาการของจิต(เจตสิก)ดัง ราคะ โทสะ โมหะ จิตฟุ้งซ่าน จิตหดหู่ ฯ. หรือจิตเห็นเวทนา กล่าวคือสติเห็นอันใดแล้วก็ละในสิ่งนั้นๆกล่าวคืออุเบกขาเสียนั่นเอง]
หลวงปู่ไม่ฝืนสังขาร
ทุกครั้งที่ล้นเกล้าฯ ทั้งสองพระองค์เสด็จเยี่ยมหลวงปู่ หลังจากเสร็จพระราชกรณียกิจในการเยี่ยมแล้ว เมื่อจะเสด็จกลับทรงมีพระราชดำรัสคำสุดท้ายว่า "ขออาราธนาหลวงปู่ให้ดำรงค์ขันธ์อยู่เกินร้อยปี เพื่อเป็นที่เคารพนับถือของปวงชนทั่วไป หลวงปู่รับได้ไหม"ฯ
ทั้งๆที่พระราชดำรัสนี้เป็นสัมมาวจีกรรม ทรงประทานพรแก่หลวงปู่โดยพระราชอัธยาศัย หลวงปู่ก็ไม่กล้ารับ และไม่อาจฝืนสังขาร จึงถวายพระพรว่า
"อาตมาภาพรับไม่ได้หรอก แล้วแต่สังขารจะเป็นไปของเขาเอง."
[Webmaster-แสดงสภาวธรรมหรือธรรมชาติของสังขารทั้งปวง แม้แต่ในสังขารกายของพระอริยเจ้า]
สิ่งที่อยู่เหนือคำพูด
อุบาสกผู้คงแก่เรียนผู้หนึ่ง สนทนากับหลวงปู่ว่า "กระผมเชื่อว่า แม้ในปัจจุบันพระผู้ปฏิบัติถึงขั้นได้บรรลุมรรคผลนิพพานก็คงมีอยู่ไม่น้อย เหตุใดท่านเหล่านั้นจึงไม่แสดงตนให้ปรากฎ เพื่อให้ผู้สนใจปฏิบัติทราบว่าท่านได้บรรลุถึงคุณธรรมนั้นแล้ว เขาจะได้มีกำลังใจและความหวัง เพื่อเป็นพลังเร่งความเพียรในทางปฏิบัติให้เต็มที่" ฯ
หลวงปู่กล่าวว่า
"ผู้ที่เขาตรัสรู้แล้ว เขาไม่พูดว่าเขารู้แล้วซึ่งอะไร เพราะสิ่งนั้นมันอยู่เหนือคำพูดทั้งหมด"
[เป็นปัจจัตตัง รู้ได้เฉพาะตน และการรู้ ล้วนเป็นเพียงรู้เพื่อนิพพิทาญาณ เพื่อการปล่อยวางเป็นสำคัญ]
หลวงปู่เตือนพระผู้ประมาท
ภิกษุผู้อยู่ด้วยความประมาท คอยนับจำนวนศีลของตนแต่ในตำรา คือมีความพอใจภูมิใจกับจำนวนศีลที่มีอยู่ในพระคำภีร์ ว่า ตนนั้นมีศีลถึง ๒๒๗ ข้อ
"ส่วนที่ตั้งใจปฏิบัติให้ได้นั้น จะมีสักกี่ข้อ"
[Webmaster-กล่าวแสดง การพ้นทุกข์ว่าไม่ใช่ด้วยการถือศีลแต่ฝ่ายเดียว ต้องประกอบด้วยการมีจิตที่มี สติ สมาธิที่หมายถึงตั้งใจมั่น เพื่อให้บรรลุถึงปัญญา]
จริง แต่ไม่จริง
ผู้ปฏิบัติกัมมัฏฐาน ทำสมาธิภาวนา เมื่อปรากฎผลออกมาในแบบต่างๆ ย่อมเกิดความสงสัยขึ้นเป็นธรรมดา เช่น เห็นนิมิตในรูปแบบที่ไม่ตรงกันบ้าง ปรากฎในอวัยวะของตนเองบ้าง ส่วนมากมากราบเรียนหลวงปู่เพื่อให้ช่วยแก้ไข หรือแนะอุบายปฏิบัติต่อไปอีก มีจำนวนมากที่ถามว่า ภาวนาแล้วก็เห็น นรก สรรรค์ วิมาน เทวดา หรือไม่ก็เป็นองค์พระพุทธรูปปรากฎอยู่ในตัวเรา สิ่งที่เห็นเหล่านี้เป็นจริงหรือ ฯ
หลวงปู่บอกว่า
"ที่เห็นนั้น เขาเห็นจริง แต่สิ่งที่ถูกเห็น ไม่จริง"
[Webmaster-หมายเตือนเรื่องนิมิต ที่ไปยึดหมาย อันจะก่อให้เกิดวิปัสสนูปกิเลสเป็นที่สุด, หลวงปู่กล่าวดังนี้เพราะ ผู้ที่เห็นนั้น เขาก็อาจเห็นจริงๆตามความรู้สึกนึกคิดหรือสังขารที่เกิดขึ้นจากส่วนหนึ่งของสัญญาเขา เพียงแต่ว่าสิ่งที่เห็นนั้น ไม่ได้เป็นจริงตามนั้น อ่านรายละเอียดความเป็นไปได้ในบทนิมิตและภวังค์]
แนะวิธีละนิมิต
ถามหลวงปู่ต่อมาอีกว่า นิมิตทั้งหลายแหล่ หลวงปู่บอกยังเป็นของภายนอกทั้งหมด จะเอามาทำอะไรยังไม่ได้ ถ้าติดอยู่ในนิมิตนั้นก็ยังอยู่แค่นั้น ไม่ก้าวต่อไปอีก จะเป็นด้วยเหตุที่กระผมอยู่ในนิมิตนี้มานานหรืออย่างไร จึงหลีกไม่พ้น นั่งภาวนาทีไร พอจิตจะรวมสงบก็เข้าถึงภาวะนั้นทันที หลวงปู่โปรดได้แนะนำวิธีละนิมิตด้วยว่า ทำอย่างไรจึงจะได้ผล
หลวงปู่ตอบว่า
เออ นิมิตบางอย่างมันก็สนุกดี น่าเพลิดเพลินอยู่หรอก แต่ถ้าติดอยู่แค่นั้นมันก็เสียเวลาเปล่า วิธีละได้ง่ายๆก็คือ อย่าไปดูสิ่งที่ถูกเห็นเหล่านั้น "ให้ดูผู้เห็น แล้วสิ่งที่ไม่อยากเห็นนั้นก็จะหายไปเอง"
[Webmaster-ผู้เห็น หมายถึงจิตหรือสติ จึงหมายถึงกลับมาอยู่กับสติเสียนั่นเอง, ส่วนผู้ที่เห็นนิมิตอยู่เสมอๆเนื่องจากการปฏิบัติสั่งสมดังนั้นมานานโดยไม่รู้คือตามหรือเชื่อในนิมิต จนเป็นสังขารองค์ธรรมในปฏิจจสมุปบาทธรรมนั่นเอง จึงมักเกิดขึ้นเองเสมอๆ แม้โดยไม่ได้เจตนา]
เป็นของภายนอก
เมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม ๒๕๒๔ หลวงปู่อยู่ในงานประจำปี วัดธรรมมงคล สุขุมวิท กรุงเทพฯ มีแม่ชีพราหมณ์หลายคนจากวิทยาลัยครูพากันเข้าไปถาม ทำนองรายงานผลของการปฏิบัติวิปัสสนาให้หลวงปู่ฟังว่า เขานั่งวิปัสสนาจิตสงบแล้ว เห็นองค์พระพุทธรูปในหัวใจของเขา บางคนว่า ได้เห็นสวรรค์เห็นวิมานของตนเองบ้าง บางคนว่าเห็นพระจุฬามณีเจดีย์สถานบ้าง พร้อมทั้งภูมิใจว่าเขาวาสนาดี ทำวิปัสสนาได้สำเร็จ
หลวงปู่อธิบายว่า
"สิ่งที่ปรากฎเห็นทั้งหมดนั้น ยังเป็นของภายนอกทั้งสิ้นจะนำเอามาเป็นสาระที่พึ่งอะไรยังไม่ได้หรอก."
[Webmaster-เป็นเพียงสังขารขึ้นมา ไม่ใช่ของเที่ยงแท้ที่นำพาให้พ้นทุกข์ หรือดับภพชาติ จึงยังไม่เป็นสาระที่ไปยึดหมาย สิ่งที่เห็นยังเป็นเพียงนิมิตอยู่เท่านั้นเอง และพึงแยกแยะหรือพิจารณาให้ดีว่ามาปฏิบัติสมถสมาธิ(สมาธิ)แต่เพียงอย่างเดียว อันอาจเสียการ, หรือปฏิบัติสมถวิปัสสนา อันดีงาม]
หยุดเพื่อรู้
เมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๐๗ มีพระสงฆ์หลายรูป ทั้งฝ่ายปริยัติและฝ่ายปฏิบัติได้เข้ากราบหลวงปู่เพื่อรับโอวาทและรับฟังการแนะแนวทางธรรมะที่จะพากันออกเผยแผ่ธรรมทูตครั้งแรก หลวงปู่แนะวิธีอธิบายธรรมะขั้นปรมัตถ์ ทั้งสอนผู้อื่นและเพื่อปฏิบัติตนเอง ให้เข้าถึงสัจจธรรมนั้นด้วย ลงท้ายหลวงปู่ได้กล่าวปรัชญาธรรมไว้ให้คิดด้วยว่า
คิดเท่าไรก็ไม่รู้ ต่อเมื่อหยุดคิดได้จึงรู้ แต่ต้องอาศัยความคิดนั้นแหละจึงรู้
[Webmaster-คิดทั้ง ๓ ต้องจำแนกแตกความให้ถูกต้อง แต่ละคิดมีความหมายดังนี้ คิดนึกปรุงแต่ง(หมายถึงการคิดฟุ้งซ่านเท่า่นั้น)เท่าไรก็ย่อมไม่รู้จักนิโรธ-การดับทุกข์ ต่อเมื่อหยุดการคิดฟุ้งซ่านหรือปรุงแต่ง อันยังให้ไม่เกิดเวทนาอันเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหาและทุกข์ในที่สุด นั่นแหละจึงจักรู้หรือพบนิโรธหรือความสุขสงบ แต่ก็ต้องอาศัยการคิดพิจารณาธรรมคือการโยนิโสมนสิการ(ธรรมวิจยะ)เสียก่อนจึงจักรู้เข้าใจด้วยตนเองจึงเกิดกำลังของปัญญา ในโทษของการคิดนึกปรุงแต่งหรือฟุ้งซ่าน]
ทั้งส่งเสริมทั้งทำลาย
กาลครั้งนั้น หลวงปู่ได้ให้โอวาทเตือนพระธรรมทูตครั้งแรกมีใจความตอนหนึ่งว่า ฯ
"ท่านทั้งหลาย การที่จะออกจาริกไปเพื่อเผยแผ่ ประกาศพระศาสนานั้น เป็นได้ทั้งส่งเสริมศาสนาและทำลายพระศาสนา ที่ว่าเช่นนี้เพราะองค์ธรรมทูตนั่นแหละตัวสำคัญ คือ เมื่อไปแล้วประพฤติตัวเหมาะสม มีสมณสัญญาจริยาวัตร งดงามตามสมณวิสัยผู้ที่ได้พบเห็น หากยังไม่เลื่อมใส ก็จะเกิดความเลื่อมใสขึ้น ส่วนผู้ที่เลื่อมใสแล้ว ก็ยิ่งเพิ่มความเลื่อมใสมากขึ้นเข้าไปอีกฯ ส่วนองค์ที่มีความประพฤติและวางตัวตรงกันข้ามนี้ ย่อมทำลายผู้ที่เลื่อมใสแล้วให้ถอยศรัทธาลง สำหรับผู้ที่ยังไม่เลื่อมใสเลย ก็ยิ่งถอยห่างออกไปอีกฯ จึงขอให้ทุกท่านจงเป็นผู้พร้อมไปด้วยความรู้และความประพฤติ ไม่ประมาท สอนเขาอย่างไร ตนเองต้องทำอย่างนั้นให้ได้เป็นตัวอย่างด้วย"
เมื่อถึงปรมัตถ์แล้วไม่ต้องการ
ก่อนเข้าพรรษาปี ๒๔๘๖ หลวงพ่อเถาะ ซึ่งเป็นญาติของหลวงปู่ และบวชเมื่อวัยชราแล้ว ได้ออกธุดงค์ติดตามท่านอาจารย์เทสก์ ท่านอาจารย์สาม ไปอยู่จังหวัดพังงาหลายปี กลับมาเยี่ยมนมัสการหลวงปู่ เพื่อศึกษาข้อปฏิบัติทางกัมมัฎฐานต่อไปอีกจนเป็นที่พอใจแล้ว หลวงพ่อเถาะพูดตามประสาความคุ้นเคยว่า หลวงปู่สร้างโบสถ์ ศาลาได้ใหญ่โตสวยงามอย่างนี้ คงได้บุญได้กุศลอย่างใหญ่โตทีเดียว ฯ
หลวงปู่กล่าวว่า
"ที่เราสร้างนี่ก็สร้างเพื่อประโยชน์ส่วนรวม ประโยชน์สำหรับโลก สำหรับวัดวาศาสนาเท่านั้นแหละ ถ้าพูดถึงเอาบุญเราจะมาเอาบุญอะไรอย่างนี้."
[Webmaster-เพราะการดับทุกข์แห่งตน คืออานิสงส์ ผลของบุญอันสูงสุดแล้ว ไม่มีอานิสงส์ของสิ่งใดสูงส่งไปกว่านี้อีกต่อไปแล้ว กิจอันควรทำยิ่งได้ทำแล้วโดยบริบูรณ์]
ทุกข์เพราะอะไร
สุภาพสตรีวัยเลยกลางคนผู้หนึ่ง เข้านมัสการหลวงปู่ พรรณาถึงฐานะของตนว่าอยู่ในฐานะที่ดี ไม่เคยขาดแคลนสิ่งใดเลย มาเสียใจกับลูกชายที่สอนไม่ได้ ไม่อยู่ในระเบียบแบบแผนที่ดี ตกอยู่ภายใต้อำนาจอบายมุขทุกอย่าง ทำลายทรัพย์สมบัติและจิตใจของพ่อแม่จนเหลือที่จะทนได้ ขอความกรุณาหลวงปู่ให้ช่วยแนะอุบายบรรเทาทุกข์ และแก้ไขให้ลูกชายพ้นจากอบายมุขนั้นด้วย ฯ
หลวงปู่ก็แนะนำสั่งสอนไปตามเรื่องนั้นๆ ตลอดถึงแนะอุบายทำใจให้สงบ รู้จักปล่อยวางให้เป็น ฯ
เมื่อสุภาพสตรีนั้นกลับไปแล้ว หลวงปู่ปรารภธรรมะให้ฟังว่า
"คนเราสมัยนี้ เขาเป็นทุกข์เพราะความคิด."
[Webmaster-ความคิด นี้ท่านหมายถึงความคิดชนิดฟุ้งซ่าน หรือความคิดนึกปรุงแต่งไปต่างๆนาๆ มิได้หมายความถึงความคิดทั้งมวล แบบยึดถือว่าความว่างอย่างผิดๆ]
อุทานธรรม
หลวงปู่ยังกล่าวธรรมกถาต่อมาอีกว่า สมบัติพัสถานทั้งหลายมันมีประจำอยู่ในโลกมาแล้วอย่างสมบูรณ์ ผู้ที่ขาดปัญญาและไร้ความสามารถ ก็ไม่อาจจะแสวงหาเพื่อยึดครองสมบัติเหล่านั้นได้ ย่อมครองตนอยู่ด้วยความฝืดเคืองและลำบากขันธ์ ส่วนผู้ที่มีปัญญาความสามารถ ย่อมแสวงหายึดสมบัติของโลกไว้ได้อย่างมากมายอำนวยความสะดวกสบายแก่ตนได้ทุกกรณีฯ ส่วนพระอริยเจ้าทั้งหลายท่านพยายามดำเนินตนเพื่อออกจากสิ่งเหล่านี้ทั้งหมด ไปสู่ภาวะแห่งความไม่มีอะไรเลย เพราะว่า
"ในทางโลก มี สิ่งที่ มี ส่วนในทางธรรม มี สิ่งที่ ไม่มี"
อุทานธรรมต่อมา
เมื่อแยกพันธะแห่งความเกี่ยวเนื่องจิตกับสรรพสิ่งทั้งปวงได้แล้ว จิตก็จะหมดพันธะกับเรื่องโลก รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส จะดีหรือเลว มันขึ้นอยู่กับจิตที่ออกไปปรุงแต่งทั้งนั้น แล้วจิตที่ขาดปัญญาย่อมเข้าใจผิด เมื่อเข้าใจผิดก็หลง ก็หลงอยู่ภายใต้อำนาจของเครื่องร้อยรัดทั้งหลาย ทั้งทางกายและทางใจ อันโทษทัณฑ์ทางกายอาจมีคนอื่นช่วยปลดปล่อยได้บ้าง ส่วนโทษทางใจ มีกิเลสตัณหาเป็นเครื่องรึงรัดไว้นั้น ต้องรู้จักปลดปล่อยตนด้วยตนเอง
"พระอริยเจ้าทั้งหลาย ท่านพ้นจากโทษทั้งสองทางความทุกข์จึงครอบงำไม่ได้"
อุทานธรรมข้อต่อมา
เมื่อบุคคลปลงผม หนวด เคราออกหมดแล้ว และได้ครองผ้ากาสาวพัสตร์เรียบร้อยแล้ว ก็นับว่าเป็นสัญญลักษณ์แห่งความเป็นภิกษุได้ แต่ยังเป็นได้แต่เพียงภายนอกเท่านั้น ต่อเมื่อเขาสามารถปลงสิ่งที่รกรุงรังทางใจ อันได้แก่อารมณ์ตกตํ่าทางใจได้แล้ว ก็ชื่อว่าเป็นภิกษุในภายในได้ฯ
ศีรษะที่ปลงผมหมดแล้ว สัตว์เลื้อยคลานเล็กน้อยเช่นเหา ย่อมอาศัยอยู่ไม่ได้ฉันใด จิตที่พ้นจากอารมณ์ ขาดจากการปรุงแต่งแล้ว ทุกข์ก็อาศัยอยู่ไม่ได้ฉันนั้น ผู้มีปกติเป็นอยู่อย่างนี้ควรเรียกได้ว่า "เป็นภิกษุแท้"
พุทโธเป็นอย่างไร
หลวงปู่รับนิมนต์ไปโปรดญาติโยมที่กรุงเทพฯ เมื่อ ๓๑ มีนาคม ๒๕๒๑ ในช่วงสนทนาธรรม ญาติโยมสงสัยว่าพุทโธ เป็นอย่างไร หลวงปู่ได้เมตตาตอบว่า
เวลาภาวนาอย่าส่งจิตออกนอก ความรู้อะไรทั้งหลายทั้งปวงอย่าไปยึด ความรู้ที่เราเรียนกับตำหรับตำรา หรือจากครูบาอาจารย์ อย่าเอามายุ่งเลย ให้ตัดอารมณ์ออกให้หมด แล้วก็เวลาภาวนาไปให้มันรู้ รู้จากจิตของเรานั่นแหละ จิตของเราสงบเราจะรู้เอง ต้องภาวนาให้มากๆเข้า เวลามันจะเป็น จะเป็นของมันเอง ความรู้อะไรๆให้มันออกมาจากจิตของเรา
ความรู้ที่ออกจากจิตที่สงบนั่นแหละเป็นความรู้ที่ลึกซึ้งถึงที่สุด ให้มันรู้ออกมาจากจิตนั่นแหละมันดี คือจิตมันสงบ
ทำจิตให้เกิดอารมณ์อันเดียว อย่าส่งจิตออกนอก ให้จิตอยู่ในจิต แล้วให้จิตภาวนาเอาเอง ให้จิตเป็นผู้บริกรรมพุทโธ พุทโธอยู่นั่นแหละ แล้วพุทโธ เราจะได้รู้จักว่า พุทโธ นั้นเป็นอย่างไร แล้วรู้เอง...เท่านั้นแหละ ไม่มีอะไรมากมาย.
[Webmaster-จิตอยู่ในจิต หมายถึง จิตอยู่กับสติ, ส่วนคำบริกรรมพุทโธ หรือสัมมาอรหัง หรือการตามลมหายใจ หรือยุบหนอพองหนอ หรือการเคลื่อนไหวร่างกายหรือส่วนหนึ่งของร่างกาย ฯลฯ ทั้งหลายทั้งปวงนั้นล้วนด้วยจุดประสงค์เดียวกันคือใช้เป็นอารมณ์ คือสิ่งที่ใช้เป็นเครื่องล่อคือเครื่องกำหนดของจิต ให้จิตไม่ดำริ(คิด)พล่านออกไปปรุงแต่งต่างๆนา จนเป็นสมาธิตั้งใจมั่นในกิจที่ปฏิบัตินั้นๆ]
อยากได้ของดี
เมื่อต้นเดือนกันยายน ๒๕๒๖ คณะแม่บ้านมหาดไทย โดยมีคุณหญิงจวบ จิรโรจน์ เป็นหัวหน้าคณะ ได้นำคระแม่บ้านมหาดไทยไปบำเพ็ญสังคมสงเคราะห์ทางภาคอีสาน ได้ถือโอกาสแวะมนัสการหลวงปู่ เมื่อเวลา ๑๘.๐๐ น.ฯ
หลังจากกราบมนัสการและถามถึงอาการสุขสบายของหลวงปู่และรับวัตถุมงคลเป็นที่ระลึกจากหลวงปู่แล้ว เห็นว่าหลวงปู่ไม่ค่อยสบาย ก็รีบออกมา แต่ยังมีสุภาพสตรีท่านหนึ่ง ถือโอกาสพิเศษกราบหลวงปู่ว่า ดิฉันขอของดีจากหลวงปู่ด้วยเถอะเจ้าค่ะ ฯ
หลวงปู่จึงเจริญพรว่า ของดีก็ต้องภาวนาเอาจึงจะได้ เมื่อภาวนาแล้ว ใจก็สงบ กายวาจาก็สงบ แล้วกายก็ดี วาจาใจก็ดี เราก็อยู่ดีมีสุขเท่านั้นเอง
ดิฉันมีภาระมาก ไม่มีเวลาจะนั่งภาวนา งานราชการเดี๋ยวนี้รัดตัวมากเหลือเกิน มีเวลาที่ไหนมาภาวนาได้คะ ฯ
หลวงปู่จึงต้องอธิบายให้ฟังว่า
"ถ้ามีเวลาสำหรับหายใจ ก็ต้องมีเวลาสำหรับภาวนา"
มี แต่ไม่เอา
ปี ๒๕๒๒ หลวงปู่ไปพักผ่อน และเยี่ยมอาจารย์สมชายที่วัดเขาสุกิม จังหวัดจันทบุรี ขณะเดียวกันก็มีพระเถระอาวุโสรูปหนึ่งจากกรุงเทพฯ คือพระธรรมวราลังการ วัดบุปผารามเจ้าคณะภาคทางภาคใต้ไปอยู่ฝึกกัมมัฏฐานเมื่อวัยชราแล้ว เพราะมีอายุอ่อนกว่าหลวงปู่เพียงปีเดียว ฯ
เมื่อท่านทราบว่าหลวงปู่เป็นพระฝ่ายกัมมัฏฐานอยู่แล้ว ท่านจึงสนใจและศึกษาถามถึงผลของการปฏิบัติ ทำนองสนทนาธรรมกันเป็นเวลานาน และกล่าวถึงภาระของท่านว่า มัวแต่ศึกษาและบริหารงานการคณะสงฆ์มาตลอดวัยชรา แล้วก็สนทนาข้อกัมมัฏฐานกับหลวงปู่อยู่เป็นเวลานาน ลงท้ายถามหลวงปู่สั้นๆว่า ท่านยังมีโกรธอยู่ไหม ฯ
หลวงปู่ตอบเร็วว่า
"มี แต่ไม่เอา"
[Webmaster-หมายถึงมีความโกรธเกิดขึ้นในระดับของขันธ์ ๕ ธรรมดาในลำดับแรก แล้วไม่เอาไปคิดนึกปรุงแต่งต่อซึ่งย่อมไม่มีสังขารเกิดขึ้นใหม่อีก ดังนั้นเวทนาก็่เกิดขึ้นใหม่ไม่ได้จึงระงับไปเช่นกัน เมื่อดับเวทนา(ที่หมายถึง ไม่ปรุงแต่งให้เกิดเวทนาขึ้นอีก)เสียแล้ว ตัณหาและอุปปาทานความเป็นตัวตนของตนจะเกิดขึ้นได้อย่างไร อันเป็นไปตามหลักปฏิจจสมุปบาทธรรม, ความโกรธจะไปอาศัยเหตุเกิดกับสิ่งใดได้ จึงต้องดับไปอย่างรวดเร็ว ไม่เกิดอาการ เกิดดับๆๆๆ จนต่อเนื่องแลเป็นสายเดียวกันคือยืดยาวนาน อันเป็นทุกข์]
รู้ให้พร้อม
ระหว่างที่หลวงปู่พักรักษา ที่โรงพยาบาลจุฬาฯ ในรอบดึกมีจำนวนหลายท่านด้วยกัน เขาเหล่านั้นมีความสงสัยและอัศจรรย์ใจอย่างยิ่ง โดยที่สังเกตว่า บางวันพอเวลาดึกสงัดตีหนึ่งผ่านไปแล้ว ได้ยินหลวงปู่อธิบายธรรมะนานประมาณ ๑๐ กว่านาที แล้วสวดยถาให้พร ทำเหมือนหนึ่งมีผู้มารับฟังอยู่เฉพาะหน้าเป็นจำนวนมาก ครั้นจะถามพฤติการที่หลวงปู่ทำเช่นนั้นก็ไม่กล้าถาม ต่อเมื่อหลวงปู่ทำเช่นนั้นหลายๆครั้ง ก็ทนสงสัยต่อไปไม่ได้ จึงพากันถามหลวงปู่ตามลักษณาการนั้นฯ
หลวงปู่จึงบอกว่า
"ความสงสัยและคำถามเหล่านี้ มันไม่ใช่เป็นแนวทางปฏิบัติธรรม"
ประหยัดคำพูด
คณะปฏิบัติธรรมจากจังหวัดบุรีรัมย์หลายท่าน มีร้อยตำรวจเอกบุญชัย สุคนธมัต อัยการจังหวัด เป็นหัวหน้า มากราบหลวงปู่ เพื่อฟังข้อปฏิบัติธรรมแลเรียนถามถึงการปฏิบัติยิ่งๆขึ้นไปอีก ซึ่งส่วนมากก็เคยปฏิบัติกับครูบาอาจารย์แต่ละองค์มาแล้ว และแสดงแนวทางปฏิบัติไม่ค่อยจะตรงกัน เป็นเหตุให้เกิดความสงสัยยิ่งขึ้น จึงขอกราบเรียนหลวงปู่โปรดช่วยแนะแนวปฏิบัติที่ถูกต้อง และทำได้ง่ายที่สุด เพราะหาเวลาปฏิบัติธรรมได้ยาก หากได้วิธีที่ง่ายๆ แล้วก็จะเป็นการถูกต้องอย่างยิ่ง ฯ
หลวงปู่บอกว่า
"ให้ดูจิต ที่จิต"
[Webmaster- จิต นี้มีความหมายถึงจิตตสังขารหรือเจตสิกคืออาการของจิต เช่น จิตมีราคะ โทสะ โมหะ ฯลฯ. และอาจหมายรวมถึงเวทนาอีกด้วยก็ได้, จึงมิได้มีความหมายถึง จิตที่เป็นดวง เป็นแสงเป็นโอภาส หรือวิญญาณในลักษณะเจตภูต หรือเป็นนิมิตใดๆทั้งสิ้น]
ง่าย แต่ทำได้ยาก
คณะของคุณดวงพร ธารีฉัตร จากสถานีวิทยุทหารอากาศ ๐๑ บางซื่อ นำโดยคุณอาคม ทันนิเทศ เดินทางไปถวายผ้าป่า และกราบนมัสการครูบาอาจารย์ตามสำนักต่างๆทางอีสาน ได้แวะกราบมนัสการหลวงปู่ หลังจากถวายผ้าป่า ถวายจตุปัจจัยไทยทานแด่หลวงปู่ และรับวัตถุมงคลเป็นที่ระลึกจากท่านแล้ว ต่างคนต่างก็ออกไปตลาดบ้าง พักผ่อนตามอัธยาศัยบ้าง
มีอยุ่กลุ่มหนึ่งประมาณสีห้าคน เข้าไปกราบหลวงปู่แนะนำวิธีปฏิบัติง่ายๆ เพื่อแก้ไขความทุกข์ความกลุ้มใจ ซึ่งมักจะเกิดขึ้นเป็นประจำ ว่าควรปฏิบัติอย่างไรจึงได้ผลเร็วที่สุด ฯ
หลวงปู่บอกว่า
"อย่าส่งจิตออกนอก."
[Webmaster-อย่าส่งจิตออกนอก ไปคิดนึกปรุงแต่งหรือฟุ้งซ่านคือไปเสวยอารมณ์(รูป เสียง กลิ่น ฯ.)ภายนอก หรือให้พิจารณาอยู่ในกาย, เวทนา, จิต, ธรรม ในสติปัฏฐาน ๔
ข้อควรระวัง พิจารณาอยู่ในกายหรือภายในกาย ไม่ใช่หมายถึง "จิตส่งใน" ที่จิตเคยเป็นสมาธิหรือฌาน แล้วคอยสอดส่องหรือจับสังเกตุแต่กายหรือจิตของตนเอง ด้วยความเคยชินสั่งสมจากการเสพรสอันสุขสบายจากอำนาจของฌานหรือความสงบจากสมาธิ และมักขาดการวิปัสสนา อย่างนี้จัดเป็นอันตรายอย่างยิ่งในภายหลัง ที่ย่อมสั่งสมจนเป็นสังขารในปฏิจจสมุปบาทธรรมในที่สุด จึงกล้าแข็งเป็นสังโยชน์ขั้นละเอียด ที่แก้ไขได้ยากมาก]
ทิ้งเสีย
สุภาพสตรีท่านหนึ่ง เป็นชนชั้นครูบาอาจารย์ เมื่อฟังธรรมปฏิบัติจากหลวงปู่จบแล้ว ก็อยากทราบถึงวิธีไว้ทุกข์ที่ถูกต้องตามธรรมเนียม เขาจึงพูดปรารภต่อไปอีกว่า คนสมัยนี้ไว้ทุกข์กันไม่ค่อยจะถูกต้องและตรงกัน ทั้งๆที่สมัย ร.๖ ท่านทำไว้เป็นแบบอย่างดีอยู่แล้ว เช่น เมื่อมีญาติพี่น้องหรือญาติผู้ใหญ่ถึงแก่กรรมลง ก็ให้ไว้ทุกข์ ๗ วันบ้าง ๕๐ วันบ้าง ๑๐๐ วันบ้าง แต่ปรากฎว่าคนทุกวันนี้ทำอะไรรู้สึกว่าลักลั่นกันไม่เป็นระเบียบ ดิฉันจึงขอเรียนถามหลวงปู่ว่า การไว้ทุกข์ที่ถูกต้อง ควรไว้อย่างไรเจ้าคะ ฯ
หลวงปู่บอกว่า
"ทุกข์ ต้องกำหนดรู้ เมื่อรู้แล้วให้ละเสีย ไปไว้มันทำไม."
[Webmaster-หลวงปู่สอนกิจญาณในอริยสัจ๔, อ่านรายละเอียดของกิจอันพึงกระทำในแต่ละอริยสัจได้ในบท อริยสัจ ๔]
จริง ตามความเป็นจริง
สุภาพสตรีชาวจีนผู้หนึ่ง ถวายสักการะแด่หลวงปู่แล้ว เขากราบเรียนถามว่า ดิฉันจะต้องไปอยู่ที่อำเภอประโคนชัย จังหวัดบุรีรมย์เพื่อทำมาค้าขายอยู่ใกล้ญาติทางโน้น ทีนี้ทางญาติๆก็เสนอแนะว่า ควรจะขายของชนิดนั้นบ้าง ชนิดนี้บ้าง ตามแต่เขาจะเห็นดีว่าอะไรขายได้ดี ดิฉันยังมีความกังวลใจตัดสินใจเอาเองไม่ได้ว่าจะเลือกขายของอะไร จึงให้หลวงปู่ช่วยแนะนำด้วยว่า จะให้ดิฉันขายอะไรจึงจะดีเจ้าคะ ฯ
"ขายอะไรก็ดีทั้งนั้นแหละ ถ้ามีคนซื้อ."
ไม่ได้ตั้งจุดหมาย
เมื่อจันทร์ ๘ พฤษภาคม ๒๕๒๒ คณะนายทหารประมาณ ๑๐ กว่านายเข้านมัสการหลวงปู่เมื่อเวลาคํ่าแล้ว ก็จะเดินทางต่อเข้ากรุงเทพ ฯ ในคณะนายทหารเหล่านั้น มียศพลโทสองท่าน หลังสนทนากับหลวงปู่เป็นเวลาพอสมควร ก็ถอดเอาพระเครื่องจากคอของแต่ละท่านรวมใส่ในพานถวายให้หลวงปู่ช่วยอธิษฐานแผ่เมตตาพลังจิตให้ ท่านก็อนุโลมตามประสงค์ แล้วก็มอบคืนไป นายพลท่านหนึ่งถามว่า ทราบว่ามีเหรียญหลวงปู่ออกมาหลายรุ่นแล้ว อยากถามหลวงปู่ว่ามีรุ่นไหนดังบ้าง ฯ
หลวงปู่ตอบว่า
"ไม่มีดัง"
คนละเรื่อง
มีชายหนุ่มจากต่างจังหวัดไกลสามสี่คนเข้าไปหาหลวงปู่ ขณะที่ท่านพักผ่อนอยู่ที่มุขศาลาการเปรียญ ดูอากัปกิริยาของเขาแล้วคงคุ้นเคยกับพระนักเลงองค์ใดองค์หนึ่งมาก่อนแล้ว สังเกตุจากการนั่งการพูด เขานั่งตามสบาย พูดตามถนัด ยิ่งกว่านั้นเขาคงเข้าใจว่าหลวงปู่นี้คงสนใจกับเครื่องรางของขลังอย่างดี เขาพูดถึงชื่อเกจิอาจารย์อื่นๆ ว่าให้ของดีของวิเศษแก่ตนหลายอย่าง ในที่สุดก็งัดเอาของมาอวดกันเองต่อหน้าหลวงปู่ คนหนึ่งมีหมูเขี้ยวตัน คนหนึ่งมีเขี้ยวเสือ อีกคนมีนอแรด ต่างคนต่างอวดอ้างว่าของตนดีวิเศษอย่างนั้นอย่างนี้ มีคนหนึ่งเอ่ยปากว่า หลวงปู่ฮะ อย่างไหนแน่ดีวิเศษกว่ากันฮะ ฯ
หลวงปู่ก็อารมณ์รื่นเริงเป็นพิเศษยิ้มๆ แล้วว่า
"ไม่มีดี ไม่มีวิเศษอะไรหรอก เป็นของสัตว์เดียรัจฉานเหมือนกัน."
[Webmaster-ท่านกล่าวอย่างตรงไปตรงมาเป็นที่สุด เพราะต่างล้วนแล้วแต่เป็นศรัทธาอย่างอธิโมกข์ ด้วยกำลังของสีลัพพตุปาทาน หรือทิฏฐุปาทาน]
ปรารภธรรมะให้ฟัง
คราวหนึ่ง หลวงปู่กล่าวปรารภธรรมะให้ฟังว่า เราเคยตั้งสัจจะจะอ่านพระไตรปิฎกจนจบ ในพรรษาที่ ๒๔๙๕ เพื่อสำรวจดูว่าจุดจบของพระพุทธศาสนาอยู่ตรงไหน ที่สุดแห่งสัจจธรรม หรือที่สุดของทุกข์นั้น อยู่ตรงไหน พระพุทธเจ้าทรงกล่าวสรุปไว้ว่าอย่างไร ครั้นอ่านไป ตริตรองไปกระทั่งถึงจบ ก็ไม่เห็นตรงไหนที่มีสัมผัสอันลึกซึ้งถึงจิตของเราให้ตัดสินใจได้ว่า นี่คือที่สิ้นสุดแห่งทุกข์ ที่สุดแห่งมรรคผล หรือที่เรียกว่านิพพาน ฯ
มีอยู่ตอนหนึ่ง คือ ครั้งนั้นพระสารีบุตรออกจากนิโรธสมาบัติใหม่ๆ พระพุทธเจ้าตรัสเชิงสนทนาธรรมว่า สารีบุตร สีผิวของเธอผ่องใสยิ่งนัก วรรณะของเธอหมดจดผุดผ่องยิ่งนัก อะไรเป็นวิหารธรรมของเธอ พระสารีบุตรกราบทูลว่า "ความว่างเปล่าเป็นวิหารธรรมของข้าพระองค์" (สุญฺญตา) ฯ
ก็เห็นมีเพียงแค่นี้แหละ ที่มาสัมผัสจิตของเรา.
ปรารภธรรมะให้ฟัง
จบพระไตรปิฎกหมดแล้ว จำพระธรรมได้มากมาย พูดเก่งอธิบายได้อย่างซาบซึ้ง มีคนเคารพนับถือมาก ทำการก่อสร้างวัตถุไว้ได้อย่างมากมาย หรือสามารถอธิบายถึง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ได้อย่างละเอียดแค่ไหนก็ตาม "ถ้ายังประมาทอยู่ ก็นับว่ายังไม่ได้รสชาติของพระศาสนาแต่ประการใดเลย เพราะสิ่งเหล่านี้ยังเป็นของภายนอกทั้งนั้น เมื่อพูดถึงประโยชน์ ก็เป็นประโยชน์ภายนอกคือเป็นไปเพื่อสงเคราะห์สังคม เพื่อสงเคราะห์ผู้อื่น เพื่อสงเคราะห์อนุชนรุ่นหลัง หรือเป็นสัญญลักษณ์ของศาสนวัตถุ ส่วนประโยชน์ของตนที่แท้นั้น คือ ความพ้นทุกข์ "จะพ้นทุกข์ได้ต่อเมื่อรู้ จิตหนึ่ง."
ขอบคุณที่มา
http://www.nkgen.com/pudule.htm