วาจาสุดท้ายที่พระพุทธองค์ทรงฝากไว้
พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้เป็นหลักการ ถ้าว่าตามปัจฉิมวาจาหรือวาจาสุดท้าย ก็ตรัสบอกว่า สิ่งทั้งหลายที่เกิดจากปัจจัยปรุงแต่ง หรือสังขารทั้งหลาย มีการเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา ไม่ว่าจะเป็นชีวิตมนุษย์ก็ตาม หรือสังคมอารยธรรมอะไรต่าง ๆ เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นแล้ว ก็มีการแตกสลายกันไปตามเหตุปัจจัย สิ่งที่มนุษย์ต้องทำคือ ต้องไม่ประมาท ดังนั้นก็ตรัสฝากไว้ว่า ? ให้ไม่ประมาท ?
เมื่อเราไม่ประมาท เราก็จะใช้ประโยชน์จากหลักอนิจจังหรือความเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ถูกต้อง ว่าในขณะที่สิ่งทั้งหลายเสื่อมสลายเปลี่ยนแปลงไป
หนึ่ง ตัวเราเองไม่นิ่งนอนใจ เรากระตือรือร้นในการที่จะพัฒนาชีวิตของตน ให้วันเวลาผ่านไปอย่างดีที่สุด เป็นประโยชน์ที่สุด
อะไรที่จะเป็นเหตุปัจจัยของความเจริญงอกงาม ก็ชวนกันรีบสร้างสรรค์ขึ้น
อันนี้เป็นหลักปฏิบัติในการเป็นอยู่โดยไม่ประมาท
เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสเรื่องอนิจจัง คือเรื่องไม่เที่ยง มักจะตรัสควบกับความไม่ประมาท นั่นคือมนุษย์จะได้ประโยชน์จากความไม่เที่ยง และจากเรื่องของการแตกสลายเสื่อมโทรมซึ่งเป็นธรรมชาติของสิ่งทั้งหลายที่มันไม่คงทนอยู่ตลอดไป แต่ที่สำคัญก็คือหลักการใหญ่ของพระพุทธศาสนาบอกไว้ว่า การที่สิ่งทั้งหลายจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรนั้น มันเป็นไปตามเหตุปัจจัย มนุษย์จะอยู่ได้ดีที่สุดก็ต้องไม่ประมาท ไม่ประมาทอย่างไร
หนึ่ง ในการศึกษาเรียนรู้ ให้เข้าใจเหตุปัจจัย
สอง นำความรู้นั้นมาปฏิบัติแก้ไขเหตุปัจจัยที่จะทำให้เสื่อม และสร้างสรรค์เหตุปัจจัยที่จะทำให้เจริญ อย่างน้อยก็ดำรงรักษาเหตุปัจจัยในฝ่ายดีไว้
อย่างสังคมไทยเราปัจจุบันนี้ ควรจะพิจารณาตรวจสอบดูว่าชีวิตและสังคมของเราตั้งอยู่ในความไม่ประมาทไหม และมีสภาพของความเสื่อมมากมายหรือเปล่า พวกเรากำลังทำเหตุปัจจัยของความเสื่อมกันอยู่มากมายหรือเปล่า
ในแง่ของความเจริญ เราเจริญจริงหรือเปล่า และเราทำเหตุปัจจัยของความเจริญกันบ้างหรือเปล่า หรือว่าเราได้เพียงแค่รับเอาภาพของความเจริญมา แต่เราไม่ได้ทำเหตุปัจจัยของความเจริญ เราอาศัยเหตุปัจจัยของความเจริญจากที่อื่น และรับเอาแต่เพียงผลจากเขา ใช่หรือไม่
ถ้าเราไม่ทำเหตุปัจจัยของความเจริญ เราจะเจริญงอกงามได้ยาก สิ่งที่เอามานั้นเป็นเหมือนของยืม หรือเป็นของที่ถูกหลอกถูกล่อให้เอามาใช้หลอกตัวเองเท่านั้น ถ้าอย่างนี้ก็ไม่ยั่งยืน อันนี้เป็นเรื่องที่ต้องมาวิเคราะห์ตรวจสอบตัวเองกันบ้าง
ตามหลักพุทธศาสนา สังคมพุทธต้องเป็นสังคมแห่งปัญญา เมื่อจะมีศรัทธาก็ต้องมีเราเป็นศรัทธาในพระพุทธศาสนาที่แท้หรือไม่
หนึ่ง ที่ว่าเรามีศรัทธาในพระพุทธศาสนานั้น เรามีศรัทธาถูกต้องหรือเปล่า ศรัทธาของเราเป็นศรัทธาในพระพุทธศาสนาที่แท้หรือไม่
สอง ศรัทธาที่จะถูกต้องก็คือต้องมีปัญญา เรามีปัญญาประกอบหรือไม่
สาม เรามีการพัฒนาในเรื่องศรัทธาและปัญญานี้หรือไม่
เราได้มีการวิเคราะห์สภาวการณ์และใช้ปัญญากันจริงจังหรือเปล่า แม้แต่จะสร้างวิถีชีวิตแห่งปัญญาให้เกิดเป็นวัฒนธรรมแห่งปัญญา เช่นมีความใฝ่รู้ ชอบศึกษา เราทำกันบ้างไหม การใฝ่รู้ชอบศึกษาทำให้เกิดความเจริญปัญญาในตนเอง แต่นอกจากนั้นยังทำให้เรารู้เข้าใจสภาพความเป็นจริงของชีวิตและเหตุการณ์ของโลก ซึ่งจะทำให้ตื่นขึ้นมาด้วยความรู้เท่าทันว่าโลกที่เจริญอย่างปัจจุบันนี้ เจริญจริงหรือเปล่า เจริญในแง่ไหน มีความเสื่อมพ่วงอยู่ หรือซ่อนอยู่อย่างไร มีเหตุปัจจัยอย่างไร เราควรจะเลือกรับส่วนไหนและจะนำมาปรับใช้ จะแก้ไข จะพัฒนาต่อไปอย่างไร
มนุษย์ที่มีปัญญา เป็นชาวพุทธ จะต้องใช้ปัญญาพิจารณาและแก้ไข ไม่ใช่ตื่นไปกับภาพของสิ่งที่จะมาบำรุงบำเรอฉาบฉวยผิวเผินไปเรื่อย ๆ อย่างไม่มีหลัก คติพระพุทธศาสนาที่จะนำมาใช้ปฏิบัติได้มีมากมาย อยู่ที่เราจะใช้ปัญญาวิเคราะห์พิจารณาหรือไม่
การเวียนมาถึงของวันวิสาขบูชา ก็คือเป็นการเตือนใจเรา และเป็นโอกาสสำหรับเราจะได้มารำลึกถึงคำสอนของพระพุทธเจ้า แล้วศึกษาให้เข้าใจ และนำมาใช้ประโยชน์ เมื่อทำอย่างนี้อารยธรรมนุษย์ก็จะพัฒนาได้ต่อไป ไม่อย่างนั้นเราก็เป็นเพียงผู้เสวยผลที่มีมาในอดีต ไม่รู้จักสร้างสรรค์อะไรเลย โดยแม้แต่จะรับก็อาจจะเลือกไม่เป็น เพราะไม่ใช้ปัญญา บางทีก็ไปเอาส่วนเสื่อมโทรมในที่ต่าง ๆ มารวมไว้กับตัวเอง
ฉะนั้น เมื่อถึงวันวิสาขบูชา อย่างน้อยก็ควรถือเอาประโยชน์จากการที่พระพุทธเจ้าได้สอนเราให้มีความไม่ประมาท ในการที่จะใช้ปัญญาศึกษาเหตุปัจจัย แล้วก็ใช้เรี่ยวแรงความเพียรในการกระทำของตนเอง ทำการแก้ไขและสร้างสรรค์ขึ้นมา ก็จะมีความเจริญได้อย่างแท้จริง
วันวิสาขบูชาจะเป็นวันสำคัญของโลกได้ ก็ต้องมีความสำคัญเริ่มตั้งแต่ที่ตัวของแต่ละคน แต่ละชีวิต แต่ละท้องถิ่น แล้วก็แต่ละสังคม ถ้าเราสามารถทำให้พระพุทธศาสนามีความหมาย ความสำคัญต่อประเทศไทยได้ ก็จะเกิดความสำคัญต่อโลกพ่วงมาด้วยและจะให้สำคัญต่อโลกแท้จริง ก็ต่อเมื่อคนไทยรู้จักนำเอาหลักพุทธศาสนามาใช้สร้างสรรค์แก้ไขปัญหาของสังคมตนเอง แล้วก้าวไปแก้ไขปัญหาของโลกด้วย
เป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่า เวลานี้โลกมีปัญหามากมายเพียงไร เราก็เอาภาพความฟุ้งเฟ้อผิวเผินอะไรบางอย่างมากลบ ๆ กันไว้ ลึกลงไปใต้นั้นก็ซ่อนเต็มไปด้วยปัญหาทั้งนั้น ประเทศพัฒนาแล้วก็ตาม กำลังพัฒนา หรือด้อยพัฒนา ล้าหลังก็ตาม เวลานี้มีปัญหาอะไรก็รู้กันอยู่แล้ว เจริญกันมากพัฒนากันไป เดี๋ยวก็บอกว่าเป็นการพัฒนาที่ไม่ยั่งยืน โลกนี้ถูกคุกคามด้วยปัญหาธรรมชาติแวดล้อมเสื่อมโทรม
สังคมที่พัฒนาแล้วหรือประเทศเจริญมากอย่างอเมริกามีปัญหาตั้งแต่ชีวิตจิตใจเครียดมีความทุกข์มาก ฆ่าตัวตายมาก ฆ่ากันตายมาก ปัญหาความรุนแรง เด็กนักเรียนประถมเอาปืนไปยิงเพื่อนนักเรียนบ้าง ยิงครูที่โรงเรียนบ้าง ติดยาเสพติด ยาบ้า ยาอี โคเคน ครอบครัวก็แตกสลาย เด็กหญิงยังไม่ได้แต่งงานมีลูกตั้งแต่อายุ 12 ลูกก็ไม่มีพ่อ ตัวเองก็ยังเลี้ยงลูกไม่เป็น เด็กก็เจริญเติบโต มาเป็นส่วนประกอบของสังคมที่เป็นปัญหา ซึ่งจะทำให้สังคมเสื่อมโทรมลงระยะยาว ไหนจะมีความแบ่งแยกรังเกียจเหยียดผิวกันเรื้อรังมาเป็นศตวรรษ
มองกว้างออกไปก็มีการแย่งชิงทรัพยากรกันในหมู่ประเทศต่าง ๆ ประเทศที่มีอำนาจมากก็แข่งขันกันในการที่จะแผ่อำนาจทางเศรษฐกิจ หาผลประโยชน์ หากแหล่งทรัพยากรมีการขัดแย้งผลประโยชน์ระหว่างประเทศร่ำรวยด้วยกัน ความหวั่นกลัวต่อการครอบงำและเอารัดเอาเปรียบระหว่างประเทศที่มั่งคั่ง กับประเทศที่ขาดแคลน ระบบและองค์กรที่ว่าตั้งขึ้นเพื่อการค้าขายที่เสรีมีความเสมอภาค ก็เป็นที่สงสัยว่าจะไม่เกิดจากวัตถุประสงค์ที่จริงใจ ฯลฯ ถ้าสนใจเอาจริงเอาจัง รู้จักรับฟัง ก็จะมองเห็นสภาพปัญหาเหล่านี้
แต่สิ่งหนึ่งที่เป็นภาพทั่วไป ก็คือการมองไปที่สิ่งเสพบริโภค ซึ่งมาล่อให้ตื่นเต้น โดยบางทีเราก็ไม่ได้มองว่าเบื้องหลังของสิ่งเหล่านี้มีอะไร
คนที่มีปัญญาจะอยู่เพียงกับภาพที่ปรากฏผิวเผินภายนอกไม่ได้ จะต้องใช้ปัญญาพิจารณาวิเคราะห์ ถ้าเราจะต้องการแก้ปัญหาและสร้างสรรค์ชีวิตสังคมและอารยธรรมของโลกกันจริง ๆ ก็เป็นโอกาสว่า เมื่อถึงวันวิสาขบูชาทีหนึ่งก็มาทบทวน ตรวจสอบ วิเคราะห์ แล้วก็พยายามที่จะนำเอาหลักการของพระพุทธศาสนามาใช้ให้เป็นประโยชน์ทั้งในการสร้างสรรค์ค์และแก้ปัญหา
จากหนังสือ ธรรมลีลา ปีที่ 6 ฉบับ 66 พฤษภาคม 2549
โดย พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) วัดญาณเวศก
ขอขอบคุณที่มา :
http://www.dhammadelivery.com/story-detail.php?sto_id=128